โครงการก่อสร้าง (Construction Project) คือ การประกอบหรือการติดตั้งให้เกิดเป็นอาคาร โครงสร้าง ระบบสาธารณูปโภคและมักจะหมายถึงงานทางด้านโยธาเป็นส่วนใหญ่
การก่อสร้างเป็นการปฏิบัติวิชาชีพแขนงหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยงานไม้ งานคอนกรีต งานปูนก่อฉาบ งานเหล็ก ช่างซึ่งปฏิบัติงานในงานแขนงนั้นๆ ก็จะเรียกตามประเภทของงานนั้นๆ เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ฯลฯ คำที่เรียกโดยรวมก็คือ ช่างก่อสร้าง และผู้ที่มีอาชีพลงทุนรับจ้างทำงานก่อสร้างจะเรียกทั่วไปว่า “ผู้รับเหมา”
ผู้รับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคล จะมีชื่อเรียกโดยทั่วไปว่า บริษัทรับสร้างบ้าน หรือ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง
ประเภทของโครงการก่อสร้าง ได้แก่
- งานอาคาร
- งานบ้านพักอาศัย
- งานอาคารพักอาศัยรวม ขนาดใหญ่
- งานอาคารสำนักงาน
- งานโรงเรียน
- งานอาคารทางศาสนา
- งานอาคารทางด้านอุตสาหกรรม เช่นโรงงาน โรงเก็บวัสดุ ฯลฯ
- งานอาคารเพื่อกิจกรรมอื่น ๆ เช่นสนามกีฬา โรงเก็บเครื่องบิน อาคารที่พักผู้โดยสาร ฯลฯ
งานถนนและระบบสาธารณูปโภคด้านขนส่ง ได้แก่
- ถนน
- ทางรถไฟ
- งานระบบทางด่วน
- สนามบิน
- ท่าเทียบเรือ
งานระบบชลประทาน ได้แก่
- เขื่อน
- คลองส่งน้ำชลประทาน
- งานอาคารประกอบอื่นๆ
งานระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ได้แก่
- ท่อส่งน้ำ ท่อส่งน้ำมัน ท่อส่งแก๊ส
- โรงผลิตน้ำประปา
- โรงบำบัดน้ำเสีย
- โรงงานกำจัดขยะ และระบบกำจัดขยะแบบอื่นๆ
- โรงไฟฟ้า ฯลฯ
ประเภทงานก่อสร้าง หมายถึงการก่อสร้างใหม่ และรวมถึงการซ่อมแซม ปรับปรุง ต่อเติม รื้อถอนด้วย และงานก่อสร้างต้องมีแบบแปลนและมีการควบคุมการทำงานของผู้รับจ้าง การทำราคากลางต้องทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง
ประเภทการก่อสร้าง หมายถึง กระบวนการอย่างหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อประกอบโครงสร้างพื้นฐานจนก่อขึ้นมาเป็นตัวอาคาร บ้านเรือนหรือระบบสาธารณูปโภค ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้งานของมนุษย์ สำหรับวิชาการก่อสร้างในระดับมหาวิทยาลัยนั้นจะไม่ได้สอนเพียงวิธีสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาเฉพาะแค่แรงงานเท่านั้น ทว่ายังสอนให้ได้เรียนรู้ถึงการจัดหาทรัพยากร การบริหารในส่วนของงบประมาณและด้านความปลอดภัยตามมา
ประเภทของงานก่อสร้าง แบ่งได้ทั่วไป 4 ประเภท
- ประเภทที่อยู่อาศัย
- ประเภทที่ใช้ในด้านอุตสาหกรรม
- ประเภทที่ใช้ในเชิงพาณิชย์
- ประเภทงานโยธาเพื่อใช้ในส่วนสาธารณูปโภค
เนื่องจากที่อยู่อาศัยกลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญสำหรับการดำรงชีพของมนุษย์ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีจึงมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้พัฒนาในส่วนของงานก่อสร้างมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การก่อสร้างแต่ละโครงการ ผู้รับเหมาก่อสร้างย่อมต้องมีองค์ความรู้ต่างๆ หลายด้าน และองค์ความรู้ที่นับว่าจำเป็นได้แก่ เทคโนโลยีของการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับวิธีและขั้นตอนของการก่อสร้าง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะช่วยปรับเปลี่ยนสิ่งที่สถาปนิกหรือวิศวกรเขียนแบบและรายการก่อสร้าง จนกลายมาเป็นสิ่งปลูกสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบต่อไป ดังนั้น นับว่าจำเป็นอย่างมากที่ทางผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีในการก่อสร้างต่างๆ อย่างครบวงจร
แหล่งที่มาของงานก่อสร้าง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แหล่ง คือ
- งานจากภาคเอกชน
- งานจากภาครัฐวิสาหะกิจ
- งานจากภาคราชการ
สำหรับงานในส่วนของภาคเอกชน จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนย่อย ซึ่งได้แก่ งานที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านธุรกิจและไม่มีความเกี่ยวข้องกับด้านธุรกิจ
งานด้านธุรกิจ งานที่เกี่ยวข้องกับด้านธุรกิจนั้นจะเกี่ยวข้องถึงการลงทุน โดยจะมีการวิเคราะห์ถึงผลกำไรขาดทุน ซึ่งงานก่อสร้างบางอย่างมักมีความจำเป็นที่ต้องข้องเกี่ยวกับด้านธุรกิจ เช่น การก่อสร้างโรงงานหรืออาคารสำนักงานเพื่อใช้เป็นที่ดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน งานก่อสร้างบางอย่างที่เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะเป็นการก่อสร้างเพื่อขายหรือเพื่อเอาไว้บริการ อย่างเช่น โรงงาน โรงแรม รีสอร์ท คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์และบ้านจัดสรร ฯลฯ สำหรับงานในส่วนที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจก็ได้แก่ งานก่อสร้างที่อยู่อาศัย
งานด้านรัฐวิสาหกิจ งานในส่วนของรัฐวิสาหกิจ จะมีการดำเนินงานที่คล้ายกันกับงานของธุรกิจเอกชน แต่การลงทุนส่วนหนึ่งจะมาจากรัฐบาลร่วมด้วย ส่วนที่เหลือจะมาจากรายได้ที่ได้จากการขายบริการต่างๆ สำหรับงานก่อสร้างของภาครัฐวิสาหกิจมักจะเป็นการก่อสร้างโครงการที่มีความข้องเกี่ยวกับการทำงานของหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง อย่างเช่น งานก่อสร้างทางพิเศษ ได้แก่ การก่อสร้างทางด่วน จะมีรายได้มาจากการเก็บค่าผ่านทาง การท่าเรือ ได้แก่ การก่อสร้างท่าเทียบเรือ ซึ่งจะมีรายได้มาจากการเก็บค่าธรรมเนียมหรือการเก็บค่าเช่าคลังเก็บสินค้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้แก่ การก่อสร้างเกี่ยวกับโรงงานผลิตไฟฟ้าและระบบการจ่ายไฟฟ้า ซึ่งมีรายได้จากการขายไฟฟ้า การประปา ได้แก่ การก่อสร้างโรงกรองน้ำ หรือการวางท่อเมนประปา โดยจะมีรายได้จากการขายน้ำประปา
งานด้านราชการ สำหรับงานก่อสร้างในส่วนทางราชการ มักจะเป็นการก่อสร้างที่มีความเกี่ยวข้องกับด้านสาธารณูปโภค ไม่ใช่การแสวงหากำไร โดยมีตัวอย่างงานของทางหน่วยราชการ เช่น กรมทางหลวง เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน สะพาน กรมชลประทานมีหน้าที่ทำการก่อสร้างเกี่ยวกับเขื่อน คลองส่งน้ำและโครงสร้างต่างๆ ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกันกับการชลประทานทั้งหมด และทางด้านกรมโยธาธิการจะทำการก่อสร้างถนน สะพาน ระบบระบายน้ำทิ้งในเขตพื้นที่เมือง ฯ โดยการก่อสร้างดังกล่าวนี้จะมีค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาจากงบประมาณแผ่นดิน
ชนิดของงานก่อสร้าง โดยทั่วไป งานก่อสร้างมักหมายถึง งานด้านวิศวกรรมโยธา ซึ่งมีหน้าที่ทำงานครอบคลุมเกี่ยวกับงานด้านก่อสร้างทั้งหมด ตั้งแต่งานก่อสร้างระดับขนาดเล็กๆ ไปจนกระทั่งถึงงานก่อสร้างระดับที่มีขนาดใหญ่ โดยงานก่อสร้างนั้นจะสามารถแบ่งออกไปตามประเภทงานได้ดังนี้
1.งานอาคาร เป็นงานก่อสร้างที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ได้แก่ พื้น คาน ฐานราก เสา ประตู หน้าต่าง กำแพงและหลังคา โดยยังรวมไปถึงงานในด้านระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบปรับอากาศ ระบบสุขาภิบาล ระบบตกแต่งภายใน ลิฟต์และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้งานในอาคาร ยกตัวอย่างงานอาคาร เช่น งานก่อสร้างบ้านหรือที่พักอาศัย ห้างสรรพสินค้า โรงงาน โรงแรม คอนโดมิเนียม ฯ สำหรับงานอาคารจะสามารถแบ่งเป็นประเภทย่อยๆ ออกได้ดังนี้
- อาคารสูง เป็นอาคารที่มีระดับความสูงโดยจำเป็นจะต้องใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อการก่อสร้าง เช่น ลิฟต์ ปั้นจั่น และนั่งร้านสำหรับแบบหล่อคอนกรีต เป็นต้น
- อาคารสำเร็จรูป เป็นอาคารที่จะประกอบไปด้วยชิ้นส่วนต่างๆ โดยอาจจะทำมาจากคอนกรีตหรือเหล็ก แต่โดยทั่วไปแล้วมักจะทำจากโรงงาน การประกอบอาคารก็มักจะนิยมใช้เครื่องจักรที่มีขนาดใหญ่ในการช่วยยกติดตั้ง
- บ้านพักอาศัย เป็นอาคารที่มีขนาดเล็กและเบา เพราะโดยทั่วไปมักจะมีระดับความสูง 1-2 ชั้น
อาคารที่พักชั่วคราว อันได้แก่ ที่พักคนงานหรือสถานที่ทำการในระยะชั่วคราวเพื่อใช้สำหรับการบริหารโครงการ
2.งานวิศวกรรมโยธา (Civil Engineering work) ได้แก่ งานด้านถนน ทางหลวง สะพาน งานวางท่อประปา งานอาคารใต้ดิน งานเขื่อน งานก่อสร้างท่าเทียบเรือ ฯ โดยงานโยธา เป็นงานที่จะต้องใช้เครื่องจักรหนักๆ เป็นอุปกรณ์หลักในการทำงาน เพราะมีปริมาณของงานมาก ขอบเขตหรือพื้นที่ในการปฏิบัติงานยังค่อนข้างกว้าง ลึกหรือทั้งกว้างและลึก ลักษณะของแรงงานที่ใช้ก็จะใช้พลังงานในรูปของแรงอัด แรงสั่นสะเทือน แรงดัน แรงกระแทก แรงเหวี่ยง ฯ
3.โรงงานอุตสาหะกรรมและงานโรงไฟฟ้า (Process and Power Plant) เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต อย่างเช่น โรงงานปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปูนซีเมนต์ โรงงานโม่หิน ฯ โดยค่าก่อสร้างจะได้มาจากค่าสร้างระบบเสียส่วนใหญ่
4.งานก่อสร้างประเภทอื่นๆ นอกจากงานทั้ง 3 ประเภทแรกแล้วนั้น ยังมีงานในประเภทอื่นๆ เช่น งานรื้อถอน งานก่อสร้างแท่นเจาะสูบก๊าซธรรมชาติ และงานน้ำมันดิบในทะเล
นอกเหนือจากนี้ งานโครงการก่อสร้างหนึ่งๆ อาจจะประกอบไปด้วยงานก่อสร้างหลากหลายอย่าง เช่น โครงการก่อสร้างเขื่อนซึ่งนอกจากจะทำการสร้างเขื่อนแล้ว ยังสร้างอาคารที่ทำการ อาคารซ่อมบำรุงฯ และโครงการสำหรับก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น